เหรียญทองคำที่ระลึกในตำนาน

https://www.facebook.com/SiamCoin

#เหรียญทองคำที่ระลึกในตำนาน #หนึ่งเดียวในโลก #เหรียญทองคำสพปมจ๕

เหรียญที่ระลึกรุ่นนี้ พระราชทานเป็นรางวัลแก่ผู้ที่ประกวดประดับประทีปดวงไฟ (ตะเกียง) ซุ้มประตูในพระบรมมหาราชวัง ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาในปี พ.ศ. ๒๔๑๓  ตรงกับปี จุลศักราช ๑๒๓๒  (ปีตามเหรียญ) ของ บาทสมเด็จพระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว (พระนามเดิมในขณะนั้นก่อนเปลี่ยนเป็นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่๒ ใน ปี พ.ศ.๒๔๑๖)

ในสมัยโบราณ การทำบุญวันเกิดของบุคคลทั่วไป มีบ้างแต่ไม่มาก ส่วนใหญ่คือ ข้าราชการ หรือเจ้านาย แต่ความนิยมจะทำตาม วันตามปฏิทินจันทคติ จะมีเพียง รัชกาลที่ ๔ ที่ท่านทำบุญตามวันทางสุริยคติ ซึ่ง รัชกาลที่๔ ท่านทำมาตั้งแต่สมัยยังทรงพระผนวชอยู่  ด้วยทรงพระราชดำริเห็นว่า การมีอายุมาถึงบรรจบครบรอบปี ไม่ตายไปเสียก่อนเป็นลาภอันอุดมอย่างหนึ่ง ซึ่งควรเป็นที่ยินดีก็ควรจะบำเพ็ญกุศลซึ่งเป็นประโยชน์ต่อตนและผู้อื่น สมกับที่มีน้ำใจยินดีและควรที่จะทำใจให้เป็นที่ตั้งแห่งความไม่ประมาท ด้วยไม่สามารถจะรู้ได้ว่า จะอยู่ไปบรรจบครบรอบอีกหรือไม่

รัชกาลที่๕ เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันอังคาร เดือน๑๐ แรม ๓ค่ำ ปีฉลู จุลศักราช ๑๒๑๕ ทรงพระนามว่า “#สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์” ต่อมา ทรงกรมที่ “#กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ” เมื่อ ปี ระกา พ.ศ.๒๔๐๔ และต่อมาเลื่อนเป็น “#กรมขุนพินิจประชานารถ”  เมื่อปีเถาะ พ.ศ.๒๔๑๐

การจัดทำบุญวันเกิดของ รัชกาลที่๕ เริ่มจากการแนะนำของ กรมปวเรศวริยาลงกรณ์ ในขณะที่รัชกาลที่ ๕ ทรงผนวช ท่านเห็นดีด้วยจึงเริ่มจัดมาตั้งแต่ ปีขาล อัฐศก ๑๒๒๘ โดยมีการสวดมนต์เลี้ยงพระและแจกสลากสิ่งของต่าง ๆ ตามที่มีหลือใช้สอย และปฏิบัติเรื่อยมา และเว้นจัดในปี พ.ศ.๒๔๑๑ เนื่องจากรัชกาลที่ ๔ทรงสวรรคต และเว้นในปี พ.ศ.๒๔๑๒ อีกหนึ่งปี

ต่อมาในปี พ.ศ.​๒๔๑๓ รัชกาลที่๕ ได้ ทรงพระราชดำริหล่อพระพุทธรูปพระชนมพรรษา ตามแบบอย่างในรัชกาลที่ ๓ขึ้น  ส่วนข้าราชการที่เคยตามเสด็จะพระราชดำเนินประพาสสิงค์โปร์ เคยเห็นการรับเสด็จมีการจุดโคมไฟหรูหรา ก็คิดอยากจะทำบ้างในวันเฉลิมพระชนมพรรษา เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดี

มี #บันทึกของหมอสมิธ ไว้ว่า “๒๑ กันยายน ๒๔๑๓ เย็นวานนี้เป็นวันแรกของการ ประดับโคมไฟตามบ้านขุนนาง  ข้าราชการได้แต่งประทีปโคมไฟประดับประดากันทุกบ้าน สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาสว่างไสวด้วยไฟหลากสี “

ส่วน #บันทึกของรัชกาลที่ ๕ มีว่า ” มีผู้จุดไฟในลำแม่น้ำและตามถนนมาก ถึงห้าวันหกวัน ด้วยการครั้งนั้นหลายวันติดกัน พวกฝรั่งก็พลอยจุดด้วยบ้าง และมีผู้ใหญ่ให้พระวันเกิดนั้นขึ้นด้วยจึงได้มีเหรียญรางวัลบรรดาผู้ซึ่งแต่งซุ้มไฟในวัง เป็นรางวัลที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓”

โดยบุคคลที่ได้รับพระราชทานรางวัลที่ ๑ ในงานครั้งนี้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๓ ได้แก่ #พระปรีชากลการ (สำอาง อมาตยกุล) บุตรของ พระยากษาปณกิจโกศล ซึ่ง เชื่อว่า เหรียญทองคำ เหรียญนี้ เป็นเหรียญที่ท่านได้รับพระราชทานจาก รัชกาลที่ ๕ในครั้งนั้น

เหรียญทองคำเหรียญนี้ ทำจากเนื้อทองคำแท้ หนักหนึ่งตำลึง (สี่บาท) เป็นเหรียญทองคำที่มีความสำคัญมากที่สุด เหรียญหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย นอกจากจะหายากมีเรื่องราวที่ชัดเจนแล้ว เหรียญทองคำเหรียญนี้ คือสมบัติชิ้นสำคัญของ  แฟนนี่ น็อกซ์ สตรีลูกครึ่งอังกฤษ บุตรสาวของ โทมัส ยอร์ช น็อกซ์  กงสุลใหญ่ชาวอังกฤษประจำสยาม เรื่องราวของความรักของ บุคคลสองท่านนี้ ได้ถูกแต่งเป็นนิยายเรื่อง Fanny & Regent of Siam ที่ได้กลายเป็นหนังสืออิงประวัติศาสตร์ที่ขายดีในอังกฤษ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *