วัดกัมโล่วยี่ หรือ วัดทิพยวารีวิหาร

พิธีปลุกเสก สังข์มังกรรุ่นที่๒ , เหรียญห้าจักรพรรดิ์เต่ามังกรรุ่นที่๒ ,เบี้ยจั่น ที่วัดทิพย์วารีวิหาร #วัดกัมโล่วยี่ หรือ #วัดทิพยวารีวิหาร สร้างในสมัยกรุงธนบุรีในปี พ.ศ. 2319 รัชสมัยของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงพระราชทานที่ดินฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นที่อาศัย ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ องค์เชียงสือนัดดาเจ้าเมืองเว้ ได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารและได้ลักลอบหนีกลับเมือง กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงแคลงพระทัยชาวญวนจึงได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้กลุ่มชนชาวญวนซึ่งมีอยู่มากในบริเวณนั้น ย้ายออกไปอาศัยอยู่ที่อื่น เพื่อให้ห่างจากพระนคร ชุมชนบริเวณนี้ซึ่งเคยเป็นที่อาศัยของคนไทย คนจีน และคนญวน เชื้อสายพุทธจึงอยู่ในความเงียบสงบ วัดทิพยวารีวิหาร ในขณะนั้นจึงมีสภาพคล้ายรกร้าง ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาเลยอีกนานหลายปี จนถึงประมาณปี พ.ศ. 2439 พระอาจารย์ไหซัน พระภิกษุจีนชาวมณฑลหูหนาน ได้จาริกมาจำพรรษาที่วัดทิพยวารีวิหารแห่งนี้ ท่านจึงได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่ และได้ชักนำคนไทย – คนจีนในเขตนั้น อันมีนายเช็งเต็ก แซ่เจี่ย และนางซิ่วออม แซ่ตัน สองสามีภรรยาคหบดีผู้กว้างขวางในกลุ่มชาวจีน ในย่านตลาดมิ่งเมืองเป็นแกนนำ ต่อมาทายาทของครอบครัวท่านทั้งสองนี้ ได้รับพระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่6 ว่า “เศวตมาลย์” พระอาจารย์และประชาชนในครั้งนั้น ได้ร่วมกันบูรณปฏิสังขรณ์วัดใหม่ทั้งวัด จนวัดอยู่ในสภาพสมบูรณ์สวยงาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) จึงได้ทรงพระราชทานสมณศักดิ์ให้อาจารย์ไหซัน เป็นหลวงจีนธรรมรสจีนศาสน์ ปลัดซ้ายจีนนิกายดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส และได้ทรงพระราชทานนามวัดกัมโล่วยี่ให้ใหม่ว่า “วัดทิพยวารีวิหาร” ตรงกับ พ.ศ. 2452 เหตุที่ให้ชื่อวัดเป็นเช่นนี้ เพราะที่วัดนี้มี “บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์” หรือ “บ่อน้ำทิพย์” อยู่นั่นเอง ตั้งแต่นั้นมาคนทั้งหลายจึงเรียก “วัดกัมโล่วยี่” หรือวัดน้ำทิพย์นี้เป็น “วัดทิพยวารีวิหาร” อันเป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์จีนนิกายจนถึงปัจจุบัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *