พระพุทธนรสีห์ #พระสวัสดิมงคลเลื่อนขั้นเลื่อนยศ

https://www.facebook.com/SiamCoin

#พระพุทธนรสีห์ #พระสวัสดิมงคลเลื่อนขั้นเลื่อนยศ

พระพุทธนรสีห์ เคยตั้งเป็นพระประธาน ของพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรในช่วงแรกก่อนที่จะ หล่อพระพุทธชินราช(จำลอง) จากเมืองพิษณุโลกมาประดิษฐานดั่งเช่นทุกวันนี้

#ที่มาของพระพุทธนรสีห์

สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพในครั้งที่ยังเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ #กรมหมื่น ดำรงราชานุภาพ ทรงเสด็จตรวจราชการมณฑลพายัพครั้งแรกเมื่อพ.ศ.๒๔๔๑ ทรงใช้เส้นทางเรือจากกรุงเทพฯถึง จ.อุตรดิตถ์ จากนั้นจึงเสด็จทางบกไป แพร่ น่าน ลำปาง ลำพูน แล้วจึงถึงเชียงใหม่ ท่าน ทรงแวะเยี่ยมชมวัดพระสิงห์แล้วพบว่า บนฐานชุกชีพระในวิหารนั้น มีพระพุทธรูปหล่อโลหะทั้งที่ดีและชำรุดกองรวมกันอยู่ พระองค์จึงทรงปีนขึ้นไปสำรวจ และทรงถูกใจพระพุทธรูปเชียงแสนองค์หนึ่ง มีขนาดใหญ่ตรงตามพระประสงค์พอดี

พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระสมัยเชียงแสน มีพุทธลักษณะงดงามมาก หล่อจากสัมฤทธิ์ สูง ๙๓ เซนติเมตร สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯทรงบรรยายไว้ในนิทานโบราณคดีว่า พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระนั่งขัดสมาธิเพชรแบบเชียงแสน มีลักษณะงามต้องตา เมื่อได้ยกพระลงมาตั้งแล้วพิจารณายิ่งดูก็ยิ่งงาม พระองค์จึงได้ขอพระองค์นี้จากเจ้าเชียงใหม่ แล้วเชิญพระพุทธรูปองค์นี้ลงมากรุงเทพฯ

   ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯโปรดให้สร้างวัดเบญจมบพิตร ทรงปรารถนาหาพระพุทธรูป เพื่อตั้งเป็นประธานขณะสร้างวัด จึงรับสั่งให้สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯเสาะหาพระพุทธรูปที่งามๆมาประดิษฐาน สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯจึงกราบทูลว่ามีพระพุทธรูปที่สวยงามและมีขนาดตรงตามพระประสงค์อยู่พอดี  หลังจากนั้น ๒ – ๓ วัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเสด็จไป จ.สมุทรปราการ เพื่อรับพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดพบที่อินเดีย และได้ถวายให้แด่พระองค์ พระองค์ทรงแวะที่วังของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯก่อน ได้ทอดพระเนตรเห็นพระพุทธรูปเชียงแสนองค์นี้ก็พอพระทัย ออกพระโอษฐ์ว่า “พระองค์นี้งามแปลกจริงๆ” แล้วตรัสสั่งให้กรมวังจัดยานมาศกับขบวนแห่มารับพระพุทธรูปเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง ทรงถวายพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระพุทธนรสีห์”

#จากพระนอกเมืองมาเป็นพระประจำพระราชวังหลวง

 เมื่อพระอุโบสถ์ชั่วคราวสร้างเสร็จ จึงอัญเชิญพระพุทธนรสีห์มาตั้งเป็นองค์ประธาน พระพุทธนรสีห์จึงเป็นพระประธานอยู่จนกระทั่งสร้างพระอุโบสถใหญ่เสร็จ แต่เมื่อตรวจหาพระพุทธรูปโบราณที่สวยสมบูรณ์ และมีขนาดใหญ่เหมาะสมที่จะเป็นพระประธาน ก็ยังไม่พบองค์ที่เหมาะ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯจึงโปรดให้หล่อจำลองพระพุทธชินราชมาเป็นพระประธานในพระอุโบสถ์วัดเบญจมบพิตร และชลอนำมาประดิษฐานไว้ เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๔๔ และ มีการหล่อจำลองพระพุทธนรสีห์ไว้เป็นประธานที่วิหารสมเด็จ ส่วนพระพุทธนรสีห์องค์จริงโปรดให้อัญเชิญกลับไปประดิษฐานบนชั้นที่ ๓ ของพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต อันเป็นที่ประทับส่วนพระองค์ และประดิษฐานสืบมาจวบจนทุกวันนี้

#พระสวัสดิมงคลเลื่อนยศ

เมื่อ พระพุทธนรสีห์(ขณะนั้นยังไม่มีนามเรียก) มาถึงกรุงเทพฯ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงขอให้ท่านเจ้ามาทำการขัดแต่ง #ท่านเจ้ามา นี้ก็คือ พระพุฒาจารย์มาวัดจักรวรรดิราชาวาสหรือวัดสามปลื้ม ขณะนั้นท่านเจ้ามายังมีสมณศักดิ์เป็น พระมงคลทิพมุนี พระพุทธรูปองค์นี้ขณะยังอยู่ที่วัดจักรวรรดิฯ พอมีคนมาเห็นต่างก็ต้องบอกว่างดงามมาก

   ท่านเจ้ามาได้ให้ช่างที่วัดทำการขัดแต่งพระ ก็พบว่าสีผิวพระมีเนื้อทองสุกปลั่งสวยงามมาก มองดูโดยรวมแล้วพระพุทธรูปองค์นี้สวยงามแปลกตา  สมเด็จๆกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าไว้ในนิทานโบราณคดีว่า มีคนชอบพูดกันว่า #พระพุทธนรสีห์เป็นพระมีอภินิหารให้เกิดสวัสดิมงคล สาเหตุที่คนลือกันเช่นนี้ก็เพราะว่า สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพอัญเชิญพระองค์นี้มาแล้ว หลังจากนั้นก็ได้เลื่อนยศจาก #กรมหมื่น ขึ้นเป็น #กรมหลวง ท่านเจ้ามาวัดสามปลื้มที่เป็นผู้อำนวยการปฏิสังขรณ์พระองค์นี้ ก็ได้เลื่อนยศจากพระมงคลทิพมุนีให้เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่ พระพุฒาจารย์ แม้แต่พระภิกษุเปี่ยมที่เป็นช่างผู้แต่งพระพุทธนรสีห์ ก็ยังได้สมณศักดิ์เป็นพระครูมงคลวิจิตร

     จึงเชื่อกันว่าพระพุทธนรสีห์มีอภินิหารทางสวัสดิมงคล คือเจริญรุ่งเรือง ถ้าเป็นสมัยนี้คงต้องเรียกกันว่า พระพุทธนรสีห์นี้ดีทางเลื่อนยศ

#อัญเชิญออกมาครั้งแรกในรอบ๑๑๖ปี

“พระพุทธนรสีห์” ได้ถูกอัญเชิญออกมาจากพระที่นั่งอัมพรสถานเป็นครั้งแรกโดยพระราชยานในริ้วขบวนตามโบราณราชประเพณี เพื่อประดิษฐาน ณ มณฑลพิธี พิธีมหามงคลบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เจริญพระพุทธมนต์ถวายสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช พระสยามเทวาธิราช และถวายพระพรชัยมงคลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ณ พระลานพระราชวังดุสิต วันอังคารที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ (ตามภาพ)

“พระพุทธนรสีห์” นับว่า เป็นพระพุทธรูปยุคโบราณองค์สำคัญคู่บ้านคู่เมืองที่มีงดงามทางพุทธศิลป์ ซึ่งไม่มีโอกาสที่เราจะได้กราบสักการะเลย เพราะไม่เคยมีการอัญเชิญออกนอกสถานที่ให้ประชาชนทั่วไปได้สักการะมาก่อน ครั้งนี้เป็นครั้งแรก(ปี พ.ศ๒๕๖๐)ที่ได้ชมริ้วขบวนอัญเชิญพระพุทธนรสีห์ตามแบบโบราณราชประเพณีที่งดงาม ซึ่งครั้งต่อไปคงบอกไม่ได้ว่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *