บ้านเขียว

https://www.facebook.com/SiamCoin

บ้านผีสิงในตำนานของเมืองเสนาใหญ่ (อำเภอผักไห่) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เดิมเป็นเรือนของ ขุนพิทักษ์บริหาร (ผึ้ง มิลินทวณิช) กับนางจ่าง มิลินทวนิช ครอบครัว เจ้าของธุรกิจ เรือโดยสารสองชั้นที่ เรียกกันว่า #เรือเมล์เขียว (เรือของคนไทย)

ตระกูลของท่านขุนพิทักษ์ฯ เป็นตระกูลใหญ่ ขุนพิทักษ์ฯมีบุตรทั้งหมด ๖ คน มีหลานอีกหลายคน

๑. นางทองคำ มิลินทวนิช (นางทองคำมีบุตร ๓ คน)

๒.นางบุญมี

๓.นายโกย

๔.หลวงมิลินทวนิช

๕.นางวงศ์ ซึ่งเป็นภรรยาของหลวงพร้อมธีระพันธ์ ผู้บังคับการเรือหลวงธนบุรีเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง

๖.นางยูร

คุณสรศัลย์  แพ่งสภา ได้เคย ศึกษาการใช้ลำน้ำในประเทศไทยระหว่าง พ.ศ.2505-2517 ได้ให้ความรู้ว่า เรือเมล์ที่ผ่านเสนาสมัยนั้นมี 3 บริษัทด้วยกันคือ

1. บริษัทสยามสตีมแพคเก็ตต์ #ของชาวอังกฤษ มีท่าเรือใหญ่อยู่ที่ท่าเตียน เดินเรือในเส้นทาง ท่าเตียน-อยุธยา-อ่างทอง-สิงห์บุรี-ชัยนาท-ปากน้ำโพ  นอกจากนี้ยังมีเรือขนาดเล็กแล่นตามเส้นทางคลองประเวศบุรีรมย์ไป แปดริ้ว คลองภาษีเจริญ-ดำเนินสะดวกไปถึงแม่กลอง เรือส่วนใหญ่เป็นเรือไม้

2. บริษัทสยามมอเตอร์โบท มีอักษรย่อว่า SMB  เป็นบริษัท #ของชาวเดนมาร์ก เข้าใจว่าเป็นบริษัทของฝรั่งบริษัทแรกที่เข้ามาดำเนินกิจการเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา  เส้นทางเดินเรือมีเฉพาะระยะไกล มีทั้งที่ทับเส้นทางของบริษัทสยามสตีมแพคเก็ตต์ และที่แล่นไปจังหวัดอื่น ๆ  บางลำไปถึงเพียงสิงห์บุรี บางลำไปชัยนาท บางลำไปถึงปากน้ำโพ  และยังมีเรือแยกเข้าแม่น้ำน่านไปถึงพิษณุโลก อุตรดิตถ์ก็มี  นอกจากนี้ก็มีสายแยกเข้าแม่น้ำน้อยที่บางไทรมาเสนา บ้านแพน และผักไห่

3. บริษัทสุดท้ายเป็นบริษัทของคนไทยคือหลวงมิลินทวนิช (ใหญ่ มิลินทวนิช)  ชาวบ้านเรียกว่า #เรือหลวงมิลินท์  เดินเรือในเส้นทางระยะไกล คือท่าเตียน-นครสวรรค์

ที่เรียกว่าเรือเมล์เขียว เรือเมล์แดง ก็ดูจากสีของเรือนั่นเอง  เรือเมล์เขียวเป็นเรือของบริษัทคนไทย คือเรือหลวงมิลินท์  ส่วนเรือเมล์แดงเป็นของบริษัทฝรั่ง แม้จะใช้สีแดงเหมือนกัน แต่ต่างบริษัทก็จะใช้สีแดงต่างกันกล่าวคือ เรือของบริษัทสยามสตีมแพคเก็ตต์เป็นสีแดงเลือดหมู ของสยามมอเตอร์โบทเป็นสีแดงสด   นอกจากจะมีป้ายบอกชื่อบริษัทติดอยู่ข้างเรือแล้ว เรือแต่ละลำจะมีป้ายบอกชื่อท่าเรือต้นทางและปลายทางให้ผู้โดยสารทราบด้วย

เรือที่เดินเส้นทางระยะไกล เป็นเรือสองชั้นขนาดใหญ่ ชั้นบนจุผู้โดยสารได้ประมาณ 80-90 คน 9ส่วนชั้นล่างมีห้องเครื่องยนต์อยู่กลางลำเรือ พื้นที่ส่วนที่เหลือเป็นระวางบรรทุกสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งในยุดนั้นยังนิยมบรรจุในกระบุงตะกร้า  สินค้าที่บรรทุกเข้ากรุงเทพฯส่วนใหญ่จะเป็นพืชสวน  ขาออกเป็นสินค้าจิปาถะ เช่น เสื้อผ้า เหล้า บุหรี่ อาหารแห้ง อาหารกระป๋อง เป็นต้น

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 มีเรือโดยสารวิ่งรับส่งผู้คนอยู่บ้าง แต่ไม่สม่ำเสมอ เพราะน้ำมันขาดแคลน ช่วงหลังสงครามบริษัทเรือของฝรั่งซึ่งถือว่าเป็นคู่สงคราม ถูกทางการยึดมาดำเนินการเองในรูปของบริษัทขนส่ง แต่การบริหารไม่รัดกุม จึงขาดทุนและเลิกกิจการไปหลังสงครามโลกได้ประมาณ 10 ปี 

ส่วนเรือเขียวของหลวงมิลินท์ก็เลิกกิจการไปเพราะเจ้าของชราภาพบริหารงานไม่ไหว  (เลิกราวปี พ.ศ.๒๕๑๕) สาเหตุอีกประการก็คือ เริ่มมีการสร้างถนนหนทางเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ความสำคัญของการสัญจรทางน้ำจึงลดน้อยถอยลง   เมื่อกิจการเรือเมล์เลิกไป ก็มีผู้ขอซื้อเรือเหล่านี้ไปบรรทุกสินค้าบ้าง ไปทำแท่นขุดทรายในแม่น้ำบ้าง ไปทำร้านอาหารลอยน้ำแถวสะพานปิ่นเกล้า สะพานกรุงธนฯ หรือสะพานปรีดี-ธำรงที่อยุธยาบ้าง  ที่ไปผูกเกยตื้นทิ้งไว้ตามข้างตลิ่งก็มีไม่น้อย

อาจกล่าวได้ว่า ในอดีตสมัยที่ถนนและทางรถไฟยังไม่ทั่วถึง  เรือเมล์เขียว เรือเมล์แดง คือเจ้าแห่งท้องน้ำโดยแท้ เพราะมันเคยเป็นพาหนะที่สะดวกและประหยัดที่สุดสำหรับสัญจรและขนส่งสินค้าเข้าออกระหว่างเมืองและชนบทเป็นเสมือนสายสัมพันธ์เชื่อมโยงผู้คนจำนวนมากที่อาศัยอยู่ริมฝั่งเจ้าพระยาและลำคลองสาขาของแม่นำสายนี้เข้าไว้ด้วยกัน

มีเรื่องราวเกี่ยวกับเรือนหลังนี้มากมายจากหลายสื่อ ซึ่งตรงกันบ้างไม่ตรงกันบ้าง แต่ในส่วนมุมมองของเราจะเป็นอย่างไรต้องรอติดตามรับชมกันนะครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *